ความยั่งยืน At A Glance

ความยั่งยืน At A Glance

Excellent Experience for All

“มุ่งมั่นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การสร้างประสบการณ์อันยอดเยี่ยมสำหรับทุกคน”

 

กรอบแนวคิดและนโยบายการพัฒนาความยั่งยืน

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เชื่อว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมคือหนทางในการสร้างสรรค์คุณค่าในระยะยาวสำหรับบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ได้น้อมนำเอา “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไข รวมทั้งหลักการสากลด้านความยั่งยืนต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทุกกิจกรรมของบริษัทฯ จะต้องดำเนินการบนหลักการของความยั่งยืนและมุ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืน เพื่อสร้างคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสีย และดำรงการยอมรับและความเชื่อถือของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความยั่งยืนและสร้างกรอบการดำเนินงาน บริษัทฯ ได้จัดทำนโยบายการพัฒนาความยั่งยืน โดยมุ่งสร้างคุณค่า 3 ด้าน ได้แก่ คุณค่าทางเศรษฐกิจ คุณค่าทางสังคม และคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม

นโยบายการพัฒนาความยั่งยืน

การกำกับดูแลและการจัดการที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน และสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจและความสำเร็จในระยะยาว

 

 

เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ เป้าหมาย และการดำเนินงานขององค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมและทั่วถึง บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่ทุกคนมีส่วนร่วม ตั้งแต่คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย คณะทำงาน ผู้บริหารทุกระดับและพนักงานทุกคน โดยมีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำกับดูแลสูงสุดในการให้คำแนะนำและอนุมัตินโยบาย ทิศทาง เป้าหมาย กลยุทธ์ และงบประมาณในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และมีคณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและกำกับดูแลกิจการ และคณะกรรมการบริหารทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องดังกล่าวในเบื้องต้น

ในส่วนของการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนนั้น คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการความยั่งยืนองค์กร ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริหารจากหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนผ่านการกำหนดกลยุทธ์ เป้าหมาย กรอบการดำเนินงาน แนวทางบริหารจัดการ และตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน รวมทั้งติดตามผลและประสิทธิภาพของการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการความยั่งยืนองค์กร โดยมีกรรมการผู้จัดการเป็นประธาน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและดูแลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ นโยบาย เป้าหมาย และกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทั่วทั้งองค์กร ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงานให้กับคณะกรรมการบริหารได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ

และเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานด้านความยั่งยืนถูกสอดผสานไปกับวัฒนธรรมองค์กรและการดำเนินงานประจำวัน มีการสื่อสารที่ชัดเจน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมความยั่งยืนองค์กร ซึ่งประกอบด้วยแชมเปี้ยนหรือผู้นำการบริหารจัดการความยั่งยืนองค์กรในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานกับผู้บริหารสายงานและฝ่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยในการสื่อสารกับพนักงาน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำแผนงานไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์อันดีบนพื้นฐานของความไว้วางใจ ตลอดจนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อบริษัทฯ มีส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่พัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสียจะช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดความเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และโอกาสในการหยุด ชะงักทางธุรกิจ พร้อมทั้งสามารถสร้างคุณประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน บริษัทฯ มีการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจและรับข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียมาบูรณาการเข้ากับกระบวนการตัดสินใจและวางแผนการดำเนินธุรกิจของจีพีเอสซี

บริษัทฯ ได้มีการทบทวนการดำเนินงานการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมระบุและจัดลำดับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ รวมทั้งหาแนวทางในการตอบสนองต่อความคาดหวังและประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนจัดทำแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียต่อไป โดยบริษัทฯ จำแนกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียออกเป็น 8 กลุ่ม โดยพิจารณาจากความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย และผลกระทบด้านความยั่งยืนของผู้มีส่วนได้เสียต่อบริษัทฯ ประกอบด้วย 1) ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน 2) พนักงาน 3) ลูกค้า 4) คู่ค้าหรือผู้จัดหาสินค้า 5) พันธมิตรทางธุรกิจ 6) หน่วยงานราชการและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง 7) สถาบันการเงิน และ 8) ชุมชนและสังคม

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการประเด็นด้านความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยมีกระบวนการประเมินและจัดลำดับความสำคัญอ้างอิงตามกรอบการรายงานความยั่งยืนสากล Global Reporting Initiative (GRI) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการรวบรวมและประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนผ่านการวิเคราะห์ประเด็นความยั่งยืนที่สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ให้ความสำคัญในบริบทของความยั่งยืนและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ประกอบกับการนำแนวทางการดำเนินกลยุทธ์ของบริษัทฯ และปัจจัยความเสี่ยงของบริษัทฯ ในปัจจุบันและอนาคตที่อาจส่งผลกระทบหรือเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจมาประกอบการประเมินความสำคัญของประเด็นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขั้นตอนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

  1. การระบุประเด็นด้านความยั่งยืน (Identification)

คณะกรรมการจัดการความยั่งยืนองค์กรรวบรวมประเด็นด้านความยั่งยืนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรและระบุประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนขององค์กรทั้งเชิงบวกและลบครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาทั้งปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและในอุตสาหกรรม เหตุการณ์ในอดีต ปัจจัยความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในอนาคต โอกาสในการดำเนินธุรกิจ และหลักสิทธิมนุษยชนสากล

  1. การประเมินและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืน (Assessment and Prioritization)

คณะกรรมการจัดการความยั่งยืนองค์กรนำประเด็นด้านความยั่งยืนที่ระบุเข้าสู่กระบวนการประเมินผ่านการพิจารณาความคิดเห็นและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียจากการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์สำหรับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง และการใช้แบบสำรวจออนไลน์สำหรับผู้มีส่วนได้เสียภายในบริษัทฯ ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมได้จากผู้มีส่วนได้เสียจะถูกวิเคราะห์ในรูปแบบคะแนนที่ให้ต่อประเด็นด้านความยั่งยืนภายใต้เกณฑ์การประเมินระดับความรุนแรงและโอกาสของการเกิดผลกระทบทั้งต่อบริษัทฯ และต่อผู้มีส่วนได้เสีย จากนั้นจึงจัดทำแผนผังเพื่อจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืน (Materiality Matrix)

  1. การทวนสอบประเด็นที่สำคัญ (Validation)

คณะกรรมการจัดการความยั่งยืนองค์กรนำเสนอผลการประเมินและผลการจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่อคณะกรรมการอำนวยการความยั่งยืนองค์กรเพื่อพิจารณาทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนให้มีความสอดคล้องกับบริบท
กลยุทธ์และเป้าหมายของบริษัทฯ ก่อนที่จะกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการจัดการต่อประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ในมิติต่าง ๆ และมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตอบสนองประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่อนุมัติประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน รวมถึงกลยุทธ์และแนวทางการจัดการต่อประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals หรือ UN SDGs) จำนวน 8 เป้าหมายหลัก ซึ่งสอดคล้องและเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ รวมทั้งให้การสนับสนุนอีก 9 เป้าหมาย เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

เป้าหมาย กลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน

กรอบการพัฒนาด้านความยั่งยืน ความมุ่งมั่น เป้าหมาย กลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการ การตอบสนองต่อ UN SDGs
เศรษฐกิจ สร้างคุณค่าให้แก่กิจการและรังสรรค์ประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล • รายได้และกำไรจากการดำเนินงานเติบโดอย่างต่อเนื่อง
• ความพึงพอใจประจำปีโดยรวมของลูกค้าที่ร้อยละ 95
• 100 % ของจํานวนคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ รับทราบจรรยาบรรณคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ
• รักษาผลตะแนนการกำกับดูแลกิจการจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตามโครงการ CGR ในระดับ “ดีเลิศ”
• ความสำเร็จในการได้รับการรับรองการต่ออายุโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยใน การต่อต้านการทุจริต (CAC Recertification)
• ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
• ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจและการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
• บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
• จัดหาแหล่งเงินทุนและบริหารการเงินอย่างรอบคอบ
• ลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพของโครงข่ายด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
• ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อยกระดับการให้บริการและประสิทธิภาพการดำเนินงาน
• ส่งมอบบริการที่ดีที่สุดและอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า
• บริหารจัดการความสัมพันธ์และความพึงพอใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
• ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขยายโอกาสในธุรกิจใหม่ รวมถึงเพื่อพัฒนาและส่งมอบบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้า
• สร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจที่ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน
• ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
• ผนวกแนวคิดด้านการพัฒนาความยั่งยืนในทุกกิจกรรมการดำเนินงาน
• สร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสํานึกที่ดีให้แก่บุคลากรเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมาย และมีความตระหนักถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยจัดให้มีการสื่อสารอย่างทั่วถึง และการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีในการปฏิบัติงานและการดําเนินธุรกิจ
สังคม เป็นองค์กรที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม สร้างโอกาสและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน • ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
• อัตราการลาออกของพนักงานลดลง
• อุบัติเหตุจากการทำงานเป็นศูนย์
• เส้นทางโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ
• ให้ความสำคัญและเคารพสิทธิมนุษยชน
• บริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม สอดคล้องและดีกว่ามาตรฐาน ข้อกำหนด และกฎหมายด้านแรงงาน
• ลงทุนพัฒนาศักยภาพและ ความสามารถของบุคลากรด้วยการสนับสนุนการฝึกอบรมและทรัพยากรที่จำเป็นต่าง ๆ และสร้างผู้นำที่ดีเพื่อองค์กรและสังคม
• สนับสนุนระบบการจัดการอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
• รักษาข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยจัดให้มีนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและนำมาปฏิบัติใช้ในการดำเนินงาน
• ลงทุนขยายเส้นทางโครงข่ายให้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงการใช้บริการและแหล่งข้อมูลต่างๆ
• สนับสนุนและส่งเสริมพนักงาน รวมทั้งคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจให้มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม
• ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบริษัทฯ กับชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อสานความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง
สิ่งแวดล้อม เป็นองค์กรที่มีการดำเนินงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม • ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในสำนักงาน
• ลดปริมาณการใช้กระดาษในสำนักงาน
• ลดปริมาณของเสียจากกิจกรรมการดำเนินงาน โดยนำกลับมาการใช้ซํ้าหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด
• ปริมาณการปล่อบก๊าซเรือนกระจกลดลงสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593
• ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
• สนับสนุนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• จัดทํามาตรการเพื่อลดการใช้พลังงาน
• ควบคุมปริมาณการใช้กระดาษ และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการลดปริมาณการใช้กระดาษ
• บริหารจัดการของเสียจากกิจกรรมการดำเนินงาน รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้มีการลดปริมาณ การใช้ซํ้า และการนำกลับมาใช้ใหม่ และการเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธีแทนการฝังกลบ
• ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพยายามลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก
• ส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติระหว่างบริษัทฯ กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
• สร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสํานึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากร โดยการสื่อสารอย่างทั่วถึง และการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสําคัญต่อความยั่งยืนขององค์กร