มิติเศรษฐกิจ

มิติเศรษฐกิจ

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจและผลตอบแทนที่ยั่งยืนภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบบริหารจัดการที่เป็นเลิศ มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมตามมาตรฐานสากล ตลอดจนเป็นองค์กรที่มีคุณธรรม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

การกำกับดูแลกิจการ

ซิมโฟนี่ ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย”

 

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีเสมอมา ด้วยเชื่อว่า การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ จะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายของการเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ เพิ่มมูลค่าและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการภายในประเทศ เช่น หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามเกณฑ์โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตลอดจนหลักเกณฑ์ในระดับสากล เช่น หลักเกณฑ์ของ ASEAN Corporate Governance Scorecard และหลักเกณฑ์ของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นต้น

ด้วยความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทฯ ได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการจากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) จากสมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors – IOD) ในระดับ “ดีเลิศ” หรือ “5 ดาว” ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2563

ข้อบังคับบริษัท
ข้อบังคับบริษัท
หนังสือรับรองบริษัท
หนังสือรับรองบริษัท
หนังสือบริคณห์สนธิ
หนังสือบริคณห์สนธิ

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการบริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมุ่งมั่นที่จะยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและกำกับดูแลกิจการขึ้น โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนด ประเมิน ทบทวนและปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ สภาพแวดล้อม และกฎหมายในแต่ละช่วงเวลา และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งดูแลให้มีการสื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ เพื่อให้ทุกคนรับทราบและยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการเป็นบริษัทฯ ที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ มีการกำกับดูแลกิจการและการบริหารงานที่เป็นเลิศ มีคุณธรรม โปร่งใส ปราศจากการคอร์รัปชันและสามารถตรวจสอบได้

นโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ถูกกำหนดขึ้นโดยครอบคลุมหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 5 หมวด ได้แก่

 

หมวดที่ 1  สิทธิของผู้ถือหุ้น

ผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีสิทธิในความเป็นเจ้าของบริษัทฯ โดยควบคุมบริษัทฯ ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้ทำหน้าที่แทนตน คณะกรรมการบริษัทจึงตระหนักและเคารพในสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของบริษัทฯ ของผู้ถือหุ้น และมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น รวมทั้งส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิในเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้ถือหุ้นสมควรได้รับ อาทิ สิทธิในการซื้อ ขายและโอนหุ้น สิทธิในส่วนแบ่งกำไร สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศที่เพียงพอและถูกต้องชัดเจน สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนน สิทธิในการเลือกตั้งหรือถอดถอนกรรมการ สิทธิในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนกรรมการบริษัท สิทธิในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี สิทธิในการเข้าร่วมตัดสินใจและทราบถึงผลการตัดสินใจของบริษัทฯ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ และสิทธิประการอื่น ๆ ที่ผู้ถือหุ้นพึงได้รับตามกฎหมาย

 

หมวดที่ 2  การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงหน้าที่ในการดูแลให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นที่มิได้เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นต่างชาติ และนักลงทุนสถาบัน โดยบริษัทฯ จัดให้มีกระบวนการที่สนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอวาระการประชุมและรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการเป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกรายส่งคำถามล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นมายังบริษัทฯ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสำคัญแก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอและทันเวลาตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ เว็บไซต์บริษัทฯ และช่องทางอื่นๆ ที่ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและเท่าเทียมกัน การกำหนดมาตรการดูแลการใช้ข้อมูลภายในและการถือหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เป็นต้น

 

หมวดที่ 3  บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิและบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอก ด้วยตระหนักดีว่าผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทฯ และความมั่นคงยั่งยืนของกิจการเกิดขึ้นจากการได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน และเผยแพร่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างสรรค์ประโยชน์ร่วมกัน และดูแลให้ความมั่นใจว่าสิทธิตามกฎหมายของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยดี

 

 หมวดที่ 4  การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

การเปิดเผยข้อมูลเป็นดัชนีชี้วัดความโปร่งใสในการดำเนินงานที่สำคัญ เป็นปัจจัยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ โปร่งใส ทั่วถึง ทันเวลา และเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและหลากหลาย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่กำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานอื่นของรัฐอย่างเคร่งครัด และติดตามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง และเป็นหลักประกันให้ผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส

 

หมวดที่ 5  ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

คณะกรรมการตระหนักถึงความรับผิดชอบและบทบาทในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงการกำหนดนโยบายวิสัยทัศน์ พันธกิจ และแผนกลยุทธ์ โดยมีการทบทวนเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมหากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้คณะกรรมการได้กำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลบนพื้นฐานของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น

 

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ (Download)

การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัทถือเป็นเรื่องที่มีความสําคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากกรรมการบริษัทเป็นผู้ที่มีบทบาทสําคัญในการกําหนดกลยุทธ์และแนวทางการดําเนินธุรกิจเพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทมีการบริหารจัดการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส สามารถสร้างผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่าระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้นและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งจะช่วยนําพาให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน

เพื่อให้การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัทดำเนินการอย่างมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและกำกับดูแลกิจการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัท

 

หลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัท (Download)

คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ในเงินลงทุนของบริษัทฯ ผ่านการดำเนินการต่างๆ ดังนี้

  1. มอบหมายให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากรของบริษัทฯ เข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมตามสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
  2. กำหนดให้กรรมการหรือผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของบริษัทฯ รายงานผลการดำเนินธุรกิจหรือข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านต่างๆ ของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมต่อที่ประชุมคณะกรรมการรายงานบริษัททุกไตรมาส นอกจากนี้ เมื่อบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมจะมีการขออนุมัติดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ เช่น การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ที่สำคัญ การร่วมทุน การเพิ่มทุนและลดทุน เป็นต้น ต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนที่จะไปลงมติหรือใช้สิทธิออกเสียงดำเนินการ
  3. กำหนดให้กรรมการหรือผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมนั้น ต้องดูแลให้บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมมีข้อบังคับในเรื่องการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือการทำรายการสำคัญอื่นใดของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมดังกล่าวให้ครบถ้วนถูกต้อง และใช้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูล และการทำรายการข้างต้นในลักษณะเดียวกันกับหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ
  4. ดูแลให้บริษัทย่อยและบริษัทร่วมมีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและเพียงพอ และมีการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และสามารถรวบรวมมาจัดทำงบการเงินรวมได้ทันตามกำหนดเวลา
  5. ส่งเสริมส่งเสริมให้บริษัทย่อยและบริษัทร่วมนำนโยบายกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณธุรกิจ นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทฯ ไปปฏิบัติ

บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนหรือข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ ซึ่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาและรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์และยังไม่สามารถเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน หรือสาธารณชนทั่วไปได้ ดังนั้น การใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล หรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้องอันเป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่น ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดตามกฎหมายแล้วยังกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ อีกด้วย

ในปี 2562 คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัตินโยบายการเก็บรักษาและการใช้ข้อมูลภายใน และนโยบายการจัดการข้อมูลภายในที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์ (Insider Trading Policy) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและยุติธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย และเพื่อป้องกันมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลภายนอกที่มาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในของบริษัทฯ ซื้อขายหลักทรัพย์และหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. การใช้ข้อมูลภายใน

กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลภายนอกที่มาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในของบริษัทฯ ต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนหรือข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ และต้องปฏิบัติตามนโยบายการเก็บรักษาและการใช้ข้อมูลภายในอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัทฯ ห้ามมิให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินเปิดเผยงบการเงินให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินทราบในช่วงตั้งแต่วันปิดงวดของงบการเงินจนถึงวันเปิดเผยงบการเงินดังกล่าว

  1. 2. การถือหลักทรัพย์ของบริษัทฯ

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ มีสิทธิเสรีภาพในการลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ แต่เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายใน (รวมทั้งคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว) ต้องไม่ซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ (หุ้น) ของบริษัทฯ ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนการเปิดเผยงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี และภายใน 72 ชั่วโมง หลังการเปิดเผยงบการเงินดังกล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการบริษัทจะแจ้งเป็นอีเมลไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ทราบช่วงระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ (Blackout Period) ของบริษัทฯ ล่วงหน้า

  1. การรายงานการถือหลักทรัพย์ของบริษัทฯ

กรรมการและผู้บริหารตามนิยามของสำนักงาน ก.ล.ต. จะต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ของตนเอง รวมทั้งของคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นกรณีซื้อ ขาย โอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง และต้องส่งสำเนารายงานดังกล่าวให้แก่ฝ่ายเลขานุการบริษัทเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยเลขานุการบริษัทมีหน้าที่รวบรวมและรายงานข้อมูลการถือหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทรับทราบทุกไตรมาส และเปิดเผยข้อมูลจำนวนหุ้นที่ถือ ณ ต้นปีสิ้นปี และที่มีการซื้อขายระหว่างปีของกรรมการและผู้บริหาร ทั้งทางตรงและทางอ้อมไว้ในรายงานประจำปี

บริษัทฯ มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดกว้าง โปร่งใส และเป็นธรรม บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัทฯ การทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองหรือบุคคล/นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทฯ การมีกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ อันอาจทำให้บริษัทฯ เสียผลประโยชน์ หรือได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่ควร การแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทฯ รวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากกิจการส่วนตัวของบริษัทฯ การใช้ข้อมูลของบริษัทฯ หาผลประโยชน์ และการถือหุ้นในกิจการคู่แข่งของบริษัทฯ

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ดูแลให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันตามที่กฎหมายหรือหน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน รายการนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการค้าทั่วไปตามหลักการที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม เปรียบเสมือนการทำรายการกับบุคคลภายนอก และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ โดยผู้ที่มีส่วนได้เสียจะต้องไม่มีส่วนในการพิจารณารายการที่ตนมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการค้าทั่วไปตามหลักการที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ ซึ่งอาจก่อให้เกิความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ต้องผ่านการสอบทานและให้ความเห็นจากคณะกรรมการตรวจสอบก่อนนำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทฯ และเพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และประกาศที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ ได้กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่จัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนเองและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย โดยให้เปิดเผยข้อมูลการดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารในนิติบุคคลอื่น ทั้งของกรรมการหรือผู้บริหารที่รายงาน ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและผู้บริหารดังกล่าว ภายใน 30 วันนับจากวันเข้าดำรงตำแหน่งในบริษัทฯ และรายงานทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการมีส่วนได้เสีย เพื่อให้กรรมการมีข้อมูลในการพิจารณาอนุมัติการเข้าทำรายการต่าง ๆ ของบริษัทฯ และบริษัทย่อยได้อย่างถูกต้อง  ทั้งนี้ เลขานุการบริษัทเป็นผู้เก็บรักษารายงานการมีส่วนได้เสีย และส่งสำเนารายงานการมีส่วนได้เสียดังกล่าวให้แก่ประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบทราบภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับรายงาน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ (Compliance) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ทุกๆ กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีความถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทฯ สามารถดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์และบรรลุเป้าหมาย

บริษัทฯ พิจารณาถึงการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการบริษัททำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทฯ ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้งกฎระเบียบและประกาศต่าง ๆ ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งของหน่วยงานราชการที่มีผลผูกพันในการดำเนินธุรกิจ ให้คำปรึกษาและจัดอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายแก่ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับของหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง

จรรยาบรรณธุรกิจ

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริม พัฒนาและกำกับดูแลให้บริษัทมีจรรยาบรรณที่ดีในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น บริษัทจึงได้รวบรวมและประมวลระเบียบแบบแผนและหลักการปฏิบัติต่างๆ อันเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนข้อกำหนดที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานความประพฤติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมและกำกับดูแลพฤติกรรมของบุคลากรทุกคนของบริษัท

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานทุกคนทุกระดับในทุกส่วนงาน โดยถือว่าจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทนี้ เป็นเรื่องที่บุคคลากรทุกคนของบริษัทพึงยึดถือและปฏิบัติให้สอดคล้องและอยู่ในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กรอย่างเคร่งครัด โดยนำหลักความซื่อสัตย์สุจริต ความมีคุณธรรมและศีลธรรมอันดี ความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องมาใช้ประกอบกับการปฏิบัติงานอยู่เสมอ

สมดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชที่ได้ทรงพระราชทานไว้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2520 ความว่า

“……..การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้
จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องประกอบด้วย…….”

บริษัทถือเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะไม่ให้บุคคลากรของบริษัททุกคนใช้โอกาสจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่มีความเกี่ยวข้องกันกับบริษัทแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยอาศัยตำแหน่งและหรืออำนาจหน้าที่ของตน บุคคลากรของบริษัททุกคนจะต้องปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง และพึงต้องระลึกอยู่เสมอว่าหากตนมีส่วนได้เสียหรือมีความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ในหน้าที่การงานของตนแล้ว บุคคลากรผู้นั้นควรหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการปฏิบัติงานนั้นและให้ผู้อื่นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. หลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันกับตนเองที่จะหรืออาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาหรือคณะกรรมการแล้วแต่กรณีทราบ เพื่อให้ผู้อื่นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนตน
  2. ในกรณีที่จำเป็นต้องทำรายการที่เกี่ยวโยงเพื่อประโยชน์ของบริษัทหรือบริษัทในเครือ บุคคลากรต้องทำรายการนั้นเสมือนกับการทำรายการระหว่างบริษัทกับบุคคลภายนอกตามปกติทางการค้าของบริษัท ทั้งนี้ บุคลากรที่มีส่วนได้เสียในรายการนั้นจะต้องไม่มีส่วนในการพิจารณาอนุมัติรายการ
  3. ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันภายใต้ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บุคคลากรของบริษัทจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวข้องกันของบริษัทจดทะเบียนอย่างเคร่งครัดโดย
    (ก) การทำธุรกรรมที่เป็นข้อตกลงทางการค้าในลักษณะเดียวกับที่วิญญูชนจะพึงกระทำกับสัญญาทั่วไปในสถานการณ์เดียวกันด้วยอำนาจต่อรองทางการค้าที่ปราศจากอิทธิพลในการที่ตนมีสถานะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานที่มีความเกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี และจะต้องขออนุมัติหลักการและวงเงินในการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัทหรือเป็นไปตามหลักการที่คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติไว้แล้ว
    (ข) ให้จัดทำรายงานสรุปการทำธุรกรรมที่มีขนาดรายการตามหลักการที่ได้ผ่านการอนุมัติตามข้อ (ก) เพื่อรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส หรือตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด
  4. ในกรณีที่ธุรกรรมที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่เป็นไปตามลักษณะรายการค้าตามข้อ 3.(ก) และเข้าข่ายต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้บริษัทขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนที่จะมีการทำรายการเป็นครั้งๆไป
  5. การประชุมพิจารณาเรื่องหรือวาระใดที่บุคคลากรผู้เข้าประชุมมีส่วนได้เสียกับเรื่องหรือวาระนั้น บุคคลากรผู้มีส่วนได้เสียจะต้องออกจากห้องประชุมไปเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมอื่นสามารถพิจารณา วิเคราะห์วิจารณ์ได้โดยอิสระปราศจากอิทธิพลหรือความกดดันจากบุคคลากรผู้มีส่วนได้เสีย

บรรดาข้อมูลทางการค้าหรือการดำเนินธุรกิจที่เป็นของบริษัทก็ดี หรือเป็นของบุคคลอื่นที่บริษัทได้รับมาทั้งโดยทางข้อตกลงสัญญาหรือการประชุมหรือปฏิบัติงานร่วมกันกับผู้อื่นก็ดี ไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบโดยวาจา เป็นเอกสาร หรือเป็นข้อมูลที่บรรจุอยู่ในคอมพิวเตอร์หรือสื่อใดๆ ที่สามารถเก็บข้อมูลได้ บริษัทถือว่าข้อมูลนั้นเป็นความลับที่บุคคลากรทุกคนของบริษัทพึงเก็บรักษาไว้ ไม่เปิดเผยไปให้บุคคลภายนอกทราบ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่บริษัท เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามเงื่อนไขข้อตกลงหรือสัญญา หรือโดยปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำสั่งของศาล ทั้งนี้ บริษัทจะต้องกำหนดมาตรการและวิธีการในการเก็บรักษาข้อมูลความลับอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. บุคคลากรของบริษัททุกคนต้องไม่นำข้อมูลที่ได้รับมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนไปเปิดเผยโดยมิชอบเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต
  2. บุคคลากรของบริษัททุกคนแม้จะเกษียณอายุ ลาออก หรือสิ้นสุดสภาพการทำงานกับบริษัทไปแล้ว ก็ควรจะต้องรักษาและไม่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับของบริษัท
  3. บริษัทจะเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้าอันเป็นข้อมูลที่ตามปกติวิสัยพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย และระมัดระวังในการใช้ข้อมูลดังกล่าว บุคคลากรของบริษัทต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับของลูกค้าให้บุคลากรอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องหรือบุคคลภายนอก เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามกฎหมาย หรือเพื่อการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือตามที่ได้รับอนุมัติจากบริษัท
  4. ข้อมูลที่เป็นข้อมูลภายในบริษัท เช่น ผลประกอบการ โครงการสำคัญ แผนกลยุทธ์ ฯลฯ ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ และหากเปิดเผยออกไปโดยมิชอบแล้ว ก็จะมีผลเสียหายแก่บริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นข้อมูลที่บุคลากรของบริษัทต้องเก็บรักษาไว้เป็นความลับ และห้ามเปิดเผยต่อผู้อื่นหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือโดยมิได้รับอนุญาตจากบริษัทอย่างเด็ดขาด
  5. การเข้าทำธุรกรรมหรือติดต่อธุรกิจกับบุคคลภายนอกทั้งที่เป็นลูกค้า คู่ค้า ผู้ขายสินค้าหรือผู้รับจ้างของบริษัท ซึ่งจะต้องมีการให้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนั้น บริษัทควรจัดทำข้อตกลง/สัญญาว่าด้วยการรักษาข้อมูลความลับกับบุคคลดังกล่าวก่อนที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลทุกครั้ง รวมทั้งแจ้งกำชับให้บุคคลากรของบริษัทที่เกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติตามข้อตกลง/สัญญาว่าด้วยการรักษาข้อมูลความลับนั้นอย่างเคร่งครัด
  6. บริษัทควรจัดให้มีการระบุข้อความหรือแสดงเครื่องหมายบนเอกสารหรือในข้อมูลของบริษัทว่าเป็นข้อมูลความลับของบริษัท เพื่อให้บุคคลากรหรือบุคคลภายนอกได้ทราบและเพื่อเตือนให้ระมัดระวังในการใช้และเก็บรักษาข้อมูลความลับนั้น ทั้งนี้บริษัทอาจระบุถึงความเสียหายของการเปิดเผยข้อมูลความลับโดยมิชอบที่จะมีต่อบริษัท ตลอดจนมาตรการการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหรือลงโทษผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนคำเตือนดังกล่าวด้วย
  7. บริษัทควรเก็บรักษาข้อมูลไว้โดยวิธีการและในรูปแบบและสถานที่ที่เหมาะสมกับลักษณะของข้อมูลนั้น และสามารถเรียกใช้หรือนำออกมาตรวจสอบได้ทุกครั้งที่บริษัทต้องการโดยข้อมูลจะไม่มีการเสื่อมสภาพหรือชำรุดเสียหาย ส่วนข้อมูลบางประเภท เช่น ข้อมูลทางการเงินบัญชีทางภาษีเอกสารการประชุม เอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หากมีกำหนดไว้ในกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องว่าต้องเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใดและภายในระยะเวลาเท่าใด บริษัทจะต้องปฏิบัติตามนั้นและเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว บริษัทควรนำเอกสารหรือข้อมูลดังกล่าวออกมาทำลายต่อไป

บริษัทจะต้องดูแลและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าอยู่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอโดยยึดถือหลักการที่ว่า บริษัทจะต้องส่งมอบบริการที่ดีและมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ได้ตกลงกับลูกค้าไว้ ในราคาที่สมเหตุสมผลและทันเวลาที่กำหนด ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ในกรณีที่บริการเกิดปัญหาขัดข้องใช้งานไม่ได้ทำให้ลูกค้าได้รับความเดือดร้อน แม้ปัญหาดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของบริษัท แต่บริษัทก็จะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะร่วมกับลูกค้าเพื่อแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไปให้ลูกค้าสามารถกลับมาใช้บริการได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. บริษัทจะปฏิบัติตามสัญญา/ข้อตกลงที่มีต่อลูกค้าทุกรายด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและมีจริยธรรมตลอดจนให้บริการที่ดี รวดเร็วทันเวลา มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนดในสัญญาในราคาที่สมเหตุสมผลโดยมีการควบคุมที่ดี และใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ด้วยความระมัดระวัง
  2. บริษัทมุ่งมั่นจะรักษา ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  3. บริษัทจะจัดให้บริการแก่ลูกค้าที่มาขอใช้บริการทุกรายอย่างเป็นธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และบริษัทจะให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริการของบริษัทอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและไม่ทำการโฆษณาชวนเชื่อหรือหลอกลวงให้ลูกค้าเข้าใจผิดในคุณภาพของบริการของบริษัท
  4. บริษัทจะไม่เปิดเผยข้อมูลของลูกค้าที่บริษัทได้ล่วงรู้มาเนื่องจากการให้บริการหรือการดำเนินธุรกิจของบริษัท อันเป็นข้อมูลที่ตามปกติวิสัยของวิญญูชนพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามกฎหมายหรือเพื่อความจำเป็นในการแก้ไขหรือป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นแก่บริษัทแล้วแต่กรณี
  5. บริษัทจะจัดให้มีช่องทางสำหรับลูกค้าที่จะติดต่อบริษัทเพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวบริการหรือร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาในการใช้บริการ ช่องทางดังกล่าวจะต้องมีความสะดวกแก่ลูกค้าในการติดต่อและมีระบบการเก็บรักษาข้อมูลที่เหมาะสม

บริษัทให้ความสำคัญต่อคู่ค้าของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ที่มีส่วนช่วยให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยถือว่าทั้งบริษัทและคู่ค้าต่างก็มีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เกื้อกูลและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังนั้นการปฏิบัติต่อคู่ค้าจึงควรตั้งอยู่บนหลักของความเสมอภาคและความเคารพต่อกัน โดยคำนึงถึงกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติปกติทางการค้าโดยสุจริต

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. บริษัทจะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่มีกับคู่ค้า รวมทั้งการชำระเงินให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่บริษัทจะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวได้บริษัทต้องรีบแจ้งให้คู่ค้าทราบ และเข้าเจรจากับคู่ค้าเพื่อแสวงหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
  2. การจัดซื้อและจัดจ้างของบริษัทจะต้องอยู่ภายใต้นโยบายการจัดซื้อและจัดจ้างที่บริษัทกำหนดโดยสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และบริษัทจะดำเนินการจัดซื้อและจัดจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบการจัดซื้อและจัดจ้างของบริษัทที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาที่มีการจัดซื้อหรือจัดจ้างนั้น
  3. ในการจัดซื้อหรือจัดจ้างแต่ละครั้ง บริษัทจะปฏิบัติต่อคู่ค้าทุกรายด้วยความเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติ ปราศจากอคติ บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งนี้ บริษัทกำหนดห้ามบุคลากรของบริษัททุกคน เรียกรับผลประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์แก่คู่ค้ารายใดหรือหลายรายโดยมิชอบหรือโดยทุจริต รวมทั้งบุคลากรผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อหรือจัดจ้างจะต้องวางตัวเป็นกลางไม่ใกล้ชิดกับคู่ค้ารายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษจนทำให้มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อหรือจ้าง
  4. บริษัทไม่ควรทำการจัดซื้อหรือจัดจ้างโดยให้เวลาแก่คู่ค้าโดยกระชั้นชิดเกินไป และควรมีการให้เวลาแก่คู่ค้าตามสมควรเพื่อเตรียมตัวจัดหาหรือผลิตสินค้าหรือจัดให้บริการอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ การเจรจาเพื่อทำสัญญาหรือข้อตกลงต้องมีความโปร่งใสและมีเหตุผลบริษัทไม่ควรใช้อิทธิพลความเป็นผู้ซื้อหรือผู้ว่าจ้างเพื่อเอารัดเอาเปรียบคู่ค้าจนเกินสมควร หรือเพื่อบีบคั้นคู่ค้าให้ต้องยอมรับปฏิบัติตามที่บริษัทต้องการอย่างไม่ถูกต้อง

ในการดำเนินธุรกิจการค้าเสรีทั่วไปย่อมจะต้องมีการแข่งขันกันท่ามกลางผู้ประกอบการค้าชนิดหรือประเภทเดียวกันอยู่เป็นธรรมดา ซึ่งหากการแข่งขันเป็นไปอย่างเสรีเป็นธรรมโดยผู้ประกอบการทุกรายให้ความเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งยอมรับกฎกติกามารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าเช่นนี้ ปัญหาด้านการแข่งขันทางการค้าโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมก็จะหมดไป และการค้าก็จะเป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. บริษัทจะดำเนินธุรกิจให้บริการโดยยึดถือหลักการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมบริษัทจะไม่ทำการโฆษณาชวนเชื่อหรือใส่ร้ายป้ายสีโจมตีคู่แข่งทางการค้าด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือโดยปราศจากมูลความจริงเพื่อให้ลูกค้าหรือประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในคู่แข่งทางการค้านั้น
  2. บริษัทควรให้การสนับสนุนหรือความร่วมมือกับคู่แข่งทางการค้าในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือสาธารณประโยชน์หรือเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความร่วมมือระหว่างบริษัทและคู่แข่งทางการค้าที่เป็นไปเพื่อการสร้างการผูกขาดตัดทอนตลาด เพื่อควบคุมราคาหรือลดคุณภาพการให้บริการแต่ไม่ลดราคา เพื่อการค้ากำไรเกินควรอันจะเป็นผลเสียหายต่อลูกค้าและประชาชน เป็นเรื่องที่ห้ามบริษัทกระทำ
  3. บริษัทจะแสวงหาข้อมูลของคู่แข่งทางการค้าจากแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ห้ามบุคคลากรของบริษัทรับ เปิดเผยหรือใช้ข้อมูลของคู่แข่งที่ได้มาโดยละเมิดต่อกฎหมายหรือสัญญาหรือข้อตกลงรักษาความลับ

บริษัทให้ความสำคัญต่อเจ้าหนี้ของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและมีส่วนช่วยเหลือให้บริษัทสามารถขยายงานและการลงทุนให้ธุรกิจการค้าของบริษัทมีความเจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างมั่นคง

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. บริษัทจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญาและพันธะทางการเงินต่อเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัดและถูกต้อง
  2. บริษัทจะบริหารจัดการกิจการและความเสี่ยงของบริษัทเพื่อสร้างความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ ว่าบริษัทจะมีฐานะทางการเงินที่ดี มั่นคงและมีความสามารถในการชำระหนี้อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอตลอดอายุสัญญา
  3. บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวผลการดำเนินกิจการ ข้อมูลทางการเงินและบัญชีที่ถูกต้องครบถ้วนให้เจ้าหนี้ทราบทุกระยะหรือตามที่เจ้าหนี้ร้องขอ

บริษัทมีความสำนึกและตระหนักอยู่เสมอว่า การดำเนินกิจการของบริษัทจะต้องให้ความใส่ใจและรับผิดชอบต่อบุคคลากรของบริษัททุกคนให้มีความปลอดภัยในการทำงานมีสุขอนามัยที่ดีและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การทำงานอยู่ตลอดเวลา

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. บริษัทต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของบุคคลากรของบริษัท โดยจัดทำข้อกำหนดและมาตรฐานการทำงาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับต่างๆ และคณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยมีเป้าหมายว่ามาตรฐาน ของบริษัทขั้นต่ำที่สุดจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้ บริษัทต้องติดตาม ศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนดและมาตรฐานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ข้อกำหนดและมาตรฐานการทำงานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานดังกล่าวจะต้องครอบคลุมไปถึงการทำงานของผู้รับจ้างเหมาของบริษัทด้วย
  2. บริษัทจะจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรของบริษัทเกี่ยวกับข้อกำหนดและมาตรฐานการทำงานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและข้อควรระวังต่างๆ พร้อมทั้งรณรงค์ให้บุคลากรทุกคนปฏิบัติตามทั่วทั้งบริษัท
  3. บริษัทจะต้องจัดให้มีระบบควบคุมดูแลและป้องกันภยันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานต่างๆ และจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ตลอดจนทำการปรับปรุง ซ่อมแซม อุปกรณ์และหรืออาคารสถานที่ของบริษัทให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีและเหมาะสมแก่การทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดภยันตรายหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน ทั้งนี้บริษัทควรมีจัดเก็บข้อมูลหรือสถิติของการเกิดภยันตรายหรืออุบัติเหตุ แล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุและแสวงหาแนวทางป้องกันในอนาคต

บริษัทดำเนินธุรกิจให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่อาจจะแยกจากกันได้ ดังนั้น บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างรู้คุณค่าและประหยัด ความรับผิดชอบต่อชุมชนโดยรอบที่ทำการของบริษัท รวมทั้งการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. บริษัทจะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม การทำนุบำรุงศาสนาและเสริมสร้างศีลธรรมจริยธรรม การสร้างสรรค์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชน คนไร้การศึกษา ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล และสนับสนุนกิจการสาธารณประโยชน์ต่างๆ แก่ชุมชนที่ด้อยโอกาสเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้โดยบริษัทจะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชมาเป็นแนวทางในการดำเนินการของบริษัท
  2. บริษัทจะส่งเสริมให้มีการปลูกฝังจิตสำนึกของบุคคลากรของบริษัทให้มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนให้บุคคลากรของบริษัทร่วมกันจัดทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนการดำเนินโครงการในพระราชดำริ นอกจากนี้บริษัทจะรณรงค์ให้บุคลากรของบริษัทใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและประหยัด
  3. บริษัทจะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมาตรการจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัย รวมทั้งปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และบริษัทจะให้การสนับสนุนจัดซื้อผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการที่ผลิตหรือจัดให้มีด้วยความใส่ใจในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน

บริษัทได้กำหนดวิสัยทัศน์ของบริษัทไว้ให้ถือว่าบุคคลากรของบริษัทเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กรให้เจริญเติบโตก้าวหน้า ดังนั้น แนวทางปฏิบัติที่บริษัทและบุคคลากรของบริษัทจะพึงมีต่อกันจึงเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. บริษัทจะให้ความสำคัญ เอาใจใส่ดูแลบุคคลากรของบริษัททุกคน ทุกตำแหน่งหน้าที่และทุกส่วนงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ สีผิว ศาสนา ความพิการ ฐานะ ชาติตระกูล สถานศึกษาหรือสถานะอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติงานบริษัท จะส่งเสริมให้บุคคลากรของบริษัทมีความรักสามัคคีกลมเกลียวกัน ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ปฏิบัติต่อกันอย่างสุภาพ มีมารยาทและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน
  2. บริษัทจะปฏิบัติต่อบุคคลากรของบริษัททุกคนอย่างยุติธรรม ปราศจากความลำเอียง สนับสนุนในการสร้างศักยภาพในความก้าวหน้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคลากร รวมทั้งส่งเสริมให้บุคคลากรมีความเข้าใจในเรื่องจรรยาบรรณที่บุคคลากรต้องพึงปฏิบัติ จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้แก่บุคคลากรอย่างเหมาะสม และปฏิบัติต่อบุคคลากรด้วยความสุจริตใจ จริงใจ รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างมีเหตุผลรวมทั้งจัดการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมในกรณีที่บุคคลากรได้รับความเดือดร้อน
  3. บุคคลากรของบริษัททุกคนมีหน้าที่ที่พึงปฏิบัติดังนี้
    (ก) ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร มีวินัย และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและบริษัท
    (ข) ประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัทโดยเคร่งครัด ให้ความเคารพและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยชอบด้วยนโยบายและระเบียบข้อบังคับของบริษัท มีความสมัครสมานสามัคคีต่อกันและเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายต่อบุคคลอื่นและบริษัทเคารพสิทธิและให้เกียรติซึ่งกันและกัน หลีกเลี่ยงการนำข้อมูลหรือเรื่องราวของผู้อื่นทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและเรื่องส่วนตัวไปเปิดเผยหรือวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเองและบริษัท
    (ค) หลีกเลี่ยงการรับของขวัญใดๆ ที่อาจทำให้ตนเองรู้สึกอึดอัดในการปฏิบัติหน้าที่ในภายหน้า หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้แจ้งต่อผู้บังคับบัญชาทราบในทันที
    (ง) ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือประโยชน์จากหน้าที่การงานแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวกหรือทำธุรกิจแข่งขันกับบริษัท
    (จ) เก็บรักษาข้อมูลความลับของบริษัทที่ตนล่วงรู้อันเนื่องมาจากการทำงาน และไม่เปิดเผยข้อมูลความลับนั้นแก่บุคคลภายในหรือบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องจากตำแหน่งหน้าที่และข้อมูลความลับของบริษัท
    (ฉ) ปฏิบัติต่อลูกค้า คู่ค้าด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความเสมอภาค รักษาข้อมูลความลับของลูกค้า คู่ค้าอย่างเคร่งครัด
    (ช) รายงานเรื่องที่ได้รับทราบให้ผู้บังคับบัญชาโดยมิชักช้าเมื่อเรื่องที่รับทราบอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือชื่อเสียงของบริษัท
    (ซ) รักษาดูแลสิทธิประโยชน์และทรัพย์สินของบริษัทให้มีสภาพดี ให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ประหยัด มิให้สิ้นเปลือง สูญเปล่า เสียหายหรือเสื่อมสลายก่อนเวลาอันสมควร
  4. กรณีที่มีบุคคลากรคนใดปฏิบัติตนในลักษณะที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท ให้พิจารณาไปตามโครงสร้างองค์กรของบริษัทและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งนี้ ให้แต่ละสายงานเป็นผู้พิจารณาเองในเบื้องต้นและสรุปเรื่องส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงและสายงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตัดสินความผิดพร้อมทั้งระบุโทษตามความเหมาะสม แต่หากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ไม่อาจอยู่ในวินิจฉัยของต้นสังกัดได้ ก็ให้นำเรื่องเข้าสู่ฝ่ายบริหารของบริษัทเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปและกำหนดโทษต่อไป

ปัญหาการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนถือเป็นปัญหาสำคัญที่บ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ และยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศอื่น จึงสมควรที่ประชาชนและองค์กรทุกภาคส่วนในสังคมไทยจะต้องร่วมมือร่วมแรงร่วมใจที่จะต่อต้านและขจัดให้การทุจริตและคอร์รัปชั่นหมดสิ้นไปจากสังคมไทย

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. ห้ามบุคคลากรของบริษัทให้ หรือเสนอที่จะให้เงินหรือสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลภายนอก เช่น ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ คู่ค้า ผู้ขาย ผู้รับจ้าง ฯลฯโดยมีเจตนาเพื่อชักจูงหรือโน้มน้าวให้บุคคลภายนอกนั้นกระทำหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดโดยละเมิดต่อกฎหมายหรือโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของตนหรือเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษอันมิควรได้ หากบุคลากรผู้ใดจงใจฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
  2. ห้ามบุคคลากรของบริษัทเรียก รับหรือยอมจะรับเงินหรือสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งมีผู้เสนอให้เพื่อจูงใจให้บุคคลากรนั้นกระทำหรืองดเว้นกระทำตามอำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดกฎหมายหรือทางที่มิชอบอื่นใด หากบุคลากรผู้ใดจงใจฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
  3. การดำเนินกิจการของบริษัทร่วมกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจองค์การมหาชนหรือภาคเอกชน ทั้งภายในและภายนอกประเทศจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง มีความโปร่งใส ตรวจสอบและอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล
  4. บริษัทจะรณรงค์สร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมองค์กรที่ดำเนินกิจการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เคารพกฎหมาย ยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรมและมุ่งรักษาจรรยาบรรณขององค์กรและวิชาชีพรวมทั้งกำหนดเป็นนโยบายของบริษัทให้บุคคลากรถือปฏิบัติ ทั้งนี้ บริษัทควรยกย่องเชิดชูบุคลากรที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างด้วย

บริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมในการให้หรือการรับของขวัญหรือผลประโยชน์อื่นใดและการเลี้ยงรับรอง เป็นแนวทางให้บุคคลากรของบริษัทปฏิบัติอย่างถูกต้องโปร่งใส ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับนโยบายและจรรยาบรรณด้านการต่อต้านด้านทุจริตและคอร์รัปชั่น

 

แนวปฏิบัติที่ดี

  1. ให้บุคลากรของบริษัทสามารถให้และรับของขวัญหรือผลประโยชน์อื่นใด ตลอดจนการเลี้ยงรับรองหรือรับเลี้ยงรับรองจากบุคคลอื่นได้ในโอกาสต่างๆ ตามประเพณีหรือวัฒนธรรมหรือให้ตามมารยาทที่ปฏิบัติในสังคม โดยการรับหรือการให้ของขวัญหรือผลประโยชน์อื่นใดและการเลี้ยงรับรองหรือรับเลี้ยงรับรองต่อบุคคลอื่นนั้นจะต้องไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจ และการรับหรือการให้ของขวัญหรือผลประโยชน์อื่นใดและการเลี้ยงรับรองหรือการรับเลี้ยงรับรองดังกล่าว จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและไม่ขัดต่อศีลธรรมหรือไม่ใช่สิ่งของผิด/ต้องห้ามตามกฎหมาย
  2. ห้ามบุคคลากรของบริษัทให้หรือรับของขวัญหรือผลประโยชน์อื่นใดจากลูกค้า ผู้ค้า ผู้รับจ้าง ผู้ขายสินค้า/บริการ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท ทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน เว้นแต่กรณีการให้หรือรับของขวัญหรือผลประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับงานประเพณีซึ่งขนบธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามอยู่ทั่วไปแล้ว เช่น งานสวดอภิธรรม งานอุปสมบท งานวันเกิด ฯลฯ ให้สามารถดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี

บริษัทมีอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดีและจรรยาบรรณของบริษัท ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของบริษัท

เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีนโยบายการกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท และเพื่อให้การตัดสินใจและการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างรอบคอบ

 

บริษัทจึงได้จัดทำ“นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น” เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน

คำนิยามตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น

คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ สัญญา มอบให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง หรือรับซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือแนะนำธุรกิจให้กับบริษัทโดยเฉพาะ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้

นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น

ห้ามกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงทุกธุรกิจในทุกประเภทและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมาย

หน้าที่ความรับผิดชอบ

  1. คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นตลอดจนกำกับดูแลให้บริษัทมีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
  2. คณะกรรมการสรรหาและกำกับดูแลกิจการ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการพิจารณาเห็นชอบนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติและพิจารณาทบทวน ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับปรุงให้นโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
  3. คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการสอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายในและระบบบริหารความเสี่ยงให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุม เหมาะสม ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
  4. กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบและให้การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมาย
  5. ผู้ตรวจสอบภายในมีหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติและกฎหมาย ข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

แนวทางการปฏิบัติ

  1. กรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณของบริษัท โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  2. พนักงานบริษัท ไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณบริษัท ผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้
  3. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่บริษัทกำหนดไว้ใน Whistleblower Policy
  4. ผู้ที่กระทำคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้ อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  5. บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัทในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้
  6. บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งการทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน

ข้อกำหนดในการดำเนินการ

  1. นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานและการให้ผลตอบแทน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบและควบคุมดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. การดำเนินการใดๆ ตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น ให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในคู่มือจรรยาบรรณบริษัท คู่มือกำกับดูแลกิจการที่ดี นโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งระเบียบและคู่มือปฏิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทจะกำหนดขึ้นต่อไป
  3. เพื่อความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดคอร์รัปชั่น กรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องดังต่อไปนี้
    1. ของกำนัล การเลี้ยงรับรองและค่าใช้จ่ายการให้ มอบ หรือรับของกำนัล การเลี้ยงรับรอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในจรรยาบรรณบริษัท
    2. เงินบริจาคเพื่อการกุศล หรือเงินสนับสนุนการให้หรือรับบริจาค หรือเงินสนับสนุนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่าเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน
    3. ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ ห้ามให้หรือรับสินบนในการดำเนินธุรกิจทุกชนิด การดำเนินงานของบริษัทและการติดต่องานกับภาครัฐจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ระบบรับแจ้งข้อร้องเรียน

ยินดีต้อนรับสู่ระบบรับแจ้งข้อร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริตและคอร์รัปชั่น (Whistleblower System)

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตและคอร์รัปชั่นและในเรื่องที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ อันเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ หรือนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ โดยการร้องเรียนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนเรื่องคุณภาพของสินค้าและการให้บริการของบริษัทฯ และขอสงวนสิทธิ์ใช้ดุลยพินิจคัดกรองข้อร้องเรียนที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขออกจากการพิจารณา

บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานหรือบุคคลภายนอก และข้อมูลที่ได้รับแจ้งจะถูกเก็บเป็นความลับ


    บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก จึงได้มีการดำเนินการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่องตามหลักมาตรฐานสากลของ Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO-ERM) สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และสนับสนุนให้การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร บริษัทฯ ได้กําหนดนโยบายบริหารความเสี่ยง ซึ่งมีกระบวนการในการประเมินความเสี่ยง การกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแล ควบคุม ติดตาม และประเมินความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร ซึ่งนโยบายนี้มีผลบังคับใช้ในการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานทุกคน

    นโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยง (Download)

    บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยจัดให้มีกลไกเพื่อป้องกันการเข้าถึงระบบและข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ การเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร รวมถึงการวางแผนสำหรับเหตุการณ์ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น

    บริษัทฯ ได้จัดทำนโยบายด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่บริษัทจดทะเบียนพึงปฏิบัติ เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยขององค์กรทุกระดับ รวมไปถึงช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ในขณะที่ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างเนื่อง รวมทั้งกำหนดกลยุทธ์และแนวทางบริหารจัดการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามกรอบพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และตามแนวทาง มาตรฐานการจัดการความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ ISO 27001

    บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความพึงพอใจและความมั่นใจต่อคุณภาพบริการของบริษัทฯ ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจของบริษัทฯ ให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า โดยการส่งมอบและรักษาระดับคุณภาพของสินค้าและการให้บริการที่เป็นเลิศ ให้ความสำคัญกับการให้บริการอย่างมืออาชีพด้วยความรวดเร็ว ให้ข้อมูลสินค้าและบริการอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และเพียงพอต่อการตัดสินใจ รักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า รวมทั้งให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Customization) ในระดับราคาที่เหมาะสมเพื่อสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจตามสโลแกนที่ว่า “Excellent Experience” จากการใช้บริการของบริษัทฯ

    นอกจากความมุ่งมั่นในการส่งมอบและรักษาระดับคุณภาพของการให้บริการอันเป็นเลิศ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการสร้าง บริหารจัดการ และรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ กับลููกค้า ตลอดจนการมีส่วนร่วมของลูกค้าผ่านการทำกิจกรรมทางธุรกิจและสันทนาการต่าง ๆ ผ่านระยะเวลาการให้บริการ 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังรับบริการ ควบคู่กับการรับฟัง รวบรวม และนำความต้องการ ปัญหา ความคาดหวัง ตลอดจนข้อคิดเห็นทั้งทางบวกและลบของลููกค้าที่มีต่อบริการของบริษัทฯ ซึ่งได้รับจากช่องทางการติดต่อสื่อสารและรับเรื่องร้องเรียน ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่บริษัทฯ ได้จัดเตรียมขึ้น เช่น การพูดคุยกับพนักงานฝ่ายขายโดยตรง การติดต่อทางโทรศัพท์มายังฝ่ายบริการลููกค้า การส่งอีเมลหรือข้อความผ่านสื่อออนไลน์ ระบบรับเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ การสำรวจความพึงพอใจ ฯลฯ มาวิเคราะห์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำเสนอหรือพัฒนาปรับปรุงบริการที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งลูกค้าปัจจุบัน ลูกค้าใหม่ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น

    จากความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการดูแลความสัมพันธ์และรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าทุกราย ทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับผลคะแนนความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อการให้บริการ โดยได้รับคะแนนเฉลี่ยถึงร้อยละ 90.71 โดยบริษัทฯ จะนำข้อเสนอแนะของลูกค้าไปเป็นฐานข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอย่างสมบูรณ์ต่อไป

    ค้าคือผู้มีส่วนได้เสียสำคัญในการนำเสนอและส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต และเป็นธรรม ส่งเสริมและร่วมสร้างการเติบโตกับคู่ค้าในหลากหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีหลักในการดำเนินการ ดังนี้

    1. กำหนดกลยุทธ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานที่มั่นใจว่าการบริหารและจัดการจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบ ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ และแนวทางระดับสากล สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนร่วมกัน
    2.  กำหนดกระบวนการคัดกรองคู่ค้าก่อนการเข้ารับงานให้กับบริษัทฯ ในแต่ละโครงการ/งาน โดยมีเกณฑ์ในการคัดกรองแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
      – ความน่าเชื่อถือของบริษัทและความสามารถทางด้านการบริหารการเงิน
      – ด้านเทคนิคและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
      – การบริหารจัดการและการคำนึงถึงผลกระทบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และคุณภาพของงาน
    3. ดำเนินการจัดจ้างและทำสัญญาอย่างโปร่งใส เสมอภาค และเป็นธรรม สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง
    4. กำหนดให้มีกลไกในการประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจ และ ชื่อเสียงขององค์กร
    5. ร่วมมือพัฒนาคู่ค้าให้กลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยการพัฒนาศักยภาพ ผ่านการทำธุรกิจบนพื้นฐานการรับฟังและให้ข้อมูลป้อนกลับ
    6. เปิดเผยและสื่อสารนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    7. จัดให้มีช่องทางการสื่อสารและช่องทางการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสให้กับคู่ค้า

    และเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ที่จะผลักดันให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทในระยะยาว บริษัทได้กำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อคู่ค้า รวมทั้งจัดทำจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และคู่ค้ามีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และสร้างความยั่งยืนของธุรกิจของบริษัทฯ และของคู่ค้าในระยะยาว

    นโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง (Download)

    จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Download)

    บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญต่อการทำรายงานทางบัญชีและการเงิน ซึ่งจะต้องถูกต้องสมบรูณ์ตามความเป็นจริง ทันเวลา สมเหตุสมผล เพื่อเสนอต่อผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ดังนั้น จึงกำหนดให้บุคลากรทุกระดับจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบัญชีและการเงิน รวมถึงข้อกำหนดทางบัญชีและการเงินของบริษัทฯ และหลักการบัญชีที่ยอมรับทั่วไปอย่างเคร่งครัด

    แนวทางปฏิบัติ

    1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐาน และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกรายการทางบัญชีและการเงินและการจัดทำรายงานทางบัญชีและการเงิน เพื่อให้การจัดทำบัญชีของบริษัทฯ เป็นไปอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ตลอดจนยึดหลักความซื่อสัตย์ ไม่มีอคติ เพื่อให้การจัดเก็บ บันทึกข้อมูล และการจัดทำรายงานทางบัญชีและการเงินเป็นไปโดยสุจริต
    2. การบันทึกรายการทางธุรกิจของบริษัทฯ ต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน สามารถตรวจสอบได้ สอดคล้องและเป็นไปตามระเบียบและข้อกำหนดของบริษัทฯ รวมทั้งมีเอกสาร หลักฐาน ประกอบการลงรายการที่ครบถ้วน เพียงพอ และทันเวลา เพื่อให้การบันทึกรายการทางธุรกิจเป็นไปโดยสมบูรณ์ในระบบบัญชี ตลอดจนต้องเป็นไปตามความเป็นจริง ไม่มีการบิดเบือน หรือสร้างรายการเท็จ
    3. รายการทางบัญชีและการเงินทุกประเภทของบริษัทฯ จะต้องมีความถูกต้อง ชัดเจน มีข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเพียงพอ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเหมาะสมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป
    4. ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ที่มีหน้าที่ความผิดชอบงานบัญชีและการเงิน ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันที่ต้องมีต่อความถูกต้องของรายงานทางบัญชีและการเงิน นอกจากนี้ ผู้บริหารและพนักงานที่เป็นผู้ทำรายการทางธุรกิจมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเตรียม และ/หรือให้ข้อมูลรายการทางธุรกิจต่างๆ แก่พนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานบัญชีและการเงิน

    บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการเป็นผู้เสียภาษีที่ดีซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศ จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านภาษี โดยยึดหลักความถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

    แนวทางปฏิบัติ

    1. จัดให้มีการบริหารจัดการด้านภาษีอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ตามแนวทางที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสมและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
    2. ดำเนินการนำส่งภาษีหรือขอคืนภาษีอย่างถูกต้อง เหมาะสม และภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด
    3. พิจารณาความเสี่ยงด้านภาษีอากร เพื่อให้มั่นใจว่าได้มีการระบุและการจัดการความเสี่ยงด้านภาษีอากร และรายงานไปยังฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านภาษี เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
    4. จัดให้มีการวางแผน ศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางภาษีสำหรับโครงการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทฯ ให้เหมาะสมก่อนเข้าลงทุน
    5. จัดให้มีผู้รับผิดชอบด้านภาษีที่มีความรู้และทักษะด้านภาษี ในการติดต่อและประสานงานกับหน่วยงาน ด้านภาษีของราชการ เพื่อให้ข้อมูลทางภาษีที่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการ สร้างความสัมพันธ์และรักษาแนวปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย
    6. ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานที่รับผิดชอบภาษีอากรมีความรู้และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ โดยจัดให้ผู้ปฏิบัติงานด้านภาษีได้รับการอบรมด้านกฎหมายภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง
    7. เปิดเผยนโยบายด้านภาษีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมไปถึงเปิดเผยข้อมูลภาษีเงินได้ในรายงานทางการเงินของบริษัทฯ ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสีย